วัฒนะฮิลล์รีสอร์ท

รู้จัก ‘ตายุ้ย’ นักล่าวิญญาณแสมสาร ผู้เก็บศพกลางทะเลมากว่า 300 ศพ

 

ชาวแสมสาร ต่างกล่าวถึง ตายุ้ย ชาวประมงพื้นบ้านนักล่าวิญญาณ ผู้ออกทะเลไปกู้ศพเน่าอืดกลางทะเลกลับเข้าฝั่งกว่า 30 ปี เก็บมาเกิน 300 ศพ โดยทำตามความเชื่อหากนำศพขึ้นจากทะเลจะได้กุศลแรง หวังอุทิศให้แก่บุพการีผู้ล่วงลับ…

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ตำบลแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อันเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่ มีพ่อเฒ่าผู้หนึ่ง ที่ชาวแสมสารต่างพากันขนานนามว่า  ‘นักล่าวิญญาณ’ จึงต้องลงพื้นที่ตามหาความจริง จนทราบว่า ‘นักล่าวิญญาณ’ นั่นคือ การล่าสมบัติ หรือขุมทรัพย์ ที่หากตีความหมายที่แท้จริงแล้วก็ คือ ‘ศพร่างอันไร้วิญญาณ’ นั่นเอง

แต่ที่ต้องทำให้เขาถูกขนานนามว่า นักล่าวิญญาณ ก็เพราะตลอดห้วงระยะเวลา 30 ปี พ่อเฒ่าผู้นี้ ได้เก็บศพมาแล้วมากกว่า 300 ศพ เพียงแค่หวังสร้างความดี ไถ่โทษให้กับชีวิตตัวเอง ที่เกิดมาเป็นคนจน จึงไม่มีโอกาสได้บวชแทนคุณให้บุพการี การช่วยชีวิตคนตาย จึงเป็นสิ่งแทนการบวช เพื่อหวังให้กุศลความดีที่สร้าง ส่งผลแด่ดวงวิญญาณผู้บังเกิดเกล้าที่ทำให้เกิดมานั่นเอง

สำหรับนักล่าวิญญาณผู้นี้มีชื่อว่า นายอารมย์ นิลซา หรือ ตายุ้ย อายุ 61 ปี เป็นชาวแสมสารโดยกำเนิด พักอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ในพื้นที่ ม.3 ต.แสมสาร เปิดเผยว่า ได้ยึดอาชีพประมงมานานกว่า 30 ปี จากจุดเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักล่าวิญญาณ เกิดขึ้นเมื่ออายุช่วงอายุประมาณ 31 ปี ครั้งนั้น มีชาวบ้านจ้างวานด้วยเงิน 200 บาท ขอให้ช่วยนำเรือเล็กไปกู้ศพเน่าอืดกลางทะเลเข้าฝั่ง คิดเพียงเป็นการสร้างบุญสร้างกุศล ไม่ได้คาดหวังถึงสิ่งตอบแทน

นายอารมย์ นิลซา หรือตายุ้ย อายุ 61 ปี ผู้ที่เป็นนักล่าวิญญาณเก็บศพกลางทะเลแสมสาร

ชาวประมงพื้นบ้านนักล่าวิญญาณ กล่าวต่อว่า จากจุดเริ่มต้นที่ เมื่อก่อนนั้นที่แสมสารมีชาวประมงทั้งชาวไทย และต่างด้าวจำนวนมาก ทำให้มีการฆ่ากันตาย อุบัติเหตุพลัดตกทะเลเสียชีวิต หรือ เกิดเรืออับปาง ทำให้มีผู้เสียชีวิตลอยน้ำเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครกล้าลงไปกู้ศพขึ้นฝั่ง โดยตนก็จะเป็นผู้ขันอาสาลงไปช่วยทุกครั้ง บางครั้งก็มีผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ไต๋เรือ หรือญาติผู้ตาย ก็จะให้เงินประมาณ 1,000 บาท เป็นค่าน้ำมันและตอบแทน แต่ก็ไม่ทุกครั้งเสมอไป เงินที่ได้มาก็จะใช้เติมน้ำมัน และซื้อของเซ่นไหว้แม่ย่านางที่หัวเรือ เพื่อเป็นการขอขมาทุกครั้ง ตามความเชื่อของชาวเล

นายอารมย์ กล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุนี้ ตนและชาวบ้านต่างมีความเชื่อกันว่า หากได้ช่วยนำศพขึ้นจากทะเล ก็จะถือเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ฉะนั้น เมื่อมีการกู้ศพในทะเล ก็จะเปรียบเช่นดั่งการล่าขุมทรัพย์ เพราะเหล่าชาวเลจะตีค่าของศพเป็นทองนั่นเอง กล่าวคือ ทองคือบุญ บุญคือทอง แท้จริงแล้วตนนั้น รู้สึกเสียใจอยู่เสมอ ที่เกิดมามีฐานะยากจน จึงไม่ได้บวชเรียนตอบแทนคุณบุพการี จนไม่มีโอกาสนั้น จึงได้ปฏิญาณตน จะขอช่วยชีวิตคนตาย ไปตราบวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อขอนำบุญกุศลทั้งหมด ที่ได้สร้างสมมา อุทิศแก่บุพการีที่ตนไม่ได้บวชให้นั่นเอง.